สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ทำลายที่อยู่อาศัยผู้บุกรุกป่าไม้โดยไม่แจ้งให้ทราบก่อน เป็นมาตรการที่เกินสมควรแก่เหตุ

ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าของชนเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย นั้นมีมายานาน ไม่ว่าจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินในเขตป่าสงวน  ซึ่งมักจะมีปัญหาและขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาผืนป่า

แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ปกป้อง ดูแลป่านั้นก็ต้องกระทำภายใต้กฎหมาย โดยต้องเลือกมาตรการหรือวิธีการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายที่ให้อำนาจ แต่ในขณะเดียวกันวิธีการที่เลือกใช้ต้องมีความจำเป็นและกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้น้อยที่สุด

    ทนายเชียงใหม่ขอนำเสนอ แนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อส.4/2561        

   เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ปฏิบัติการตามโครงการอพยพ ผลักดัน จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 โดยได้เข้าพื้นที่เพื่อเจรจาและแจ้งให้ทราบถึงเหตุผลที่ต้องอพยพ รวมทั้งทำความเข้าใจถึงเหตุที่ไม่อาจให้บุกรุกถางป่าได้อีก โดยขอให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการจัดไว้ให้ แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้บางส่วนได้ย้อนกลับเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิม


 กระทั่งในการปฏิบัติการ เมื่อปี 2554 เจ้าหน้าที่ได้ทาการบินสำรวจและพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกจึงได้เดินเท้าเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งพบกระท่อมหรือเพิงพักที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ไม่พบร่องรอยหุงหาอาหารมาเป็นเวลานานสามารถจับกุมผู้กระทาความผิดได้ 1 คน พบปืนยาว พืชกัญชาปลูกกระจายทั่วแปลงที่ดิน ซากสัตว์ป่าและต้นไม้ที่ถูกโค่นล้ม คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเผาทำลายพืชเสพติด รวมทั้งรื้อถอนและเผาทำลายเพิงพัก-ยุ้งฉาง ในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถรื้อถอนแล้วนำกลับมายังหน่วยงานเพื่อให้เจ้าของมาขอรับคืนได้ เพราะเป็นระยะทางที่ไกลต้องใช้เวลาเดินเท้า 3-4 วัน ซึ่งเกินกว่ากำลังของเจ้าหน้าที่ที่จะทำได้

ประเด็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตอุทยานได้ แต่การใช้ดุลพินิจดังกล่าวต้องดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจใช้อำนาจโดยกำหนดมาตรการบังคับตามอำเภอใจ การเลือกใช้มาตรการบังคับต้องมีความได้สัดส่วนเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะที่ต้องการจะปกป้องรักษากับความเดือดร้อนเสียหายหรือสิทธิที่ชาวบ้านคือผู้ฟ้องคดีจะได้รับผลกระทบ กล่าวคือต้องเลือกมาตรการหรือวิธีการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายที่ให้อำนาจ แต่ในขณะเดียวกันวิธีการที่เลือกใช้ต้องมีความจำเป็นและกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้น้อยที่สุด

การที่เจ้าหน้าที่เลือกใช้วิธีการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย อันกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเกินสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็น ไม่สมควรแก่เหตุ

การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่กระทำโดยรู้สำนึกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นการกระทำละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี